การออกแบบเครื่องสับหยวกกล้วยสำหรับอาหารสัตว์แบบ 3 แหล่งพลังงาน

Main Article Content

ณัฐชฎา พิมพาภรณ์
เดโชชัย สาพิมพ์
เพียร โตท่าโรง
พีรพล บุตรน้ำเพ็ชร
อานัส โต๊ะวัง

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในพื้นที่ของจังหวัดนครนายกมีความสนใจใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น หยวกกล้วย เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านการซื้ออาหารสัตว์ ซึ่งวิธีการสับหยวกกล้วยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้มีดสับด้วยแรงงานคนหรือการใช้เครื่องสับที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งมีราคาสูงและใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ส่งผลให้เกษตรกรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการพัฒนาเครื่องสับหยวกกล้วยที่สามารถใช้พลังงานทดแทนได้เพื่อช่วยลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบเครื่องสับหยวกกล้วยสำหรับเป็นอาหารสัตว์แบบ 3 แหล่งพลังงาน โดยดำเนินการออกแบบเครื่อง คือ กว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 85 เซนติเมตร สูง 150 เซนติเมตร ส่วนโครงสร้างหลักของเครื่อง ได้แก่ 1. โครงสร้างตัวเครื่อง 2. ชุดสับหยวกกล้วย 3. พลังงานทดแทน 4. ระบบถ่ายทอดกำลัง โดยกำหนดขอบเขตชุดสับหยวกกล้วยใช้ใบมีด 2 ใบ ใช้พลังงาน คือ โซล่าเซลล์ กังหันลม และไฟฟ้า ใช้มอเตอร์ขนาด 2 แรงม้า กำหนดความเร็วรอบของมอเตอร์ที่ 1400 รอบต่อนาที และมุมใบมีดในการสับ เป็น 4 ระดับที่ 5 8 10 และ 13 มิลลิเมตร


สรุปผลการวิจัย พบว่า ผลการพัฒนาเครื่อง การทดสอบระบบการทำงานเครื่องสับอาหารสัตว์ แบบ3แหล่งพลังงาน ซึ่งจากการทดสอบเครื่องและระบบการทำงานของเครื่องใช้งานสับหยวกกล้วยสำหรับทำอาหารสัตว์ประเภทโคได้จริงตามที่ออกแบบไว้ทั้งในส่วนโครงสร้างเครื่องและระบบการทำงานของเครื่อง ผลการทดสอบการชาร์จด้วยกังหันลม กระแสไฟในการชาร์จโดยเฉลี่ยเท่ากับ 7.27 แอมแปร์ ใช้เวลาเฉลี่ยในการชาร์จเท่ากับ 11.44 ชั่วโมง และพลังงานที่เก็บสามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 542.22 กิโลวัตต์ สำหรับการชาร์จด้วยโซล่าเซลล์ มีกระแสไฟการชาร์จโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9.05 แอมแปร์ ใช้เวลาเฉลี่ยในการชาร์จเท่ากับ 8.55 ชั่วโมง และพลังงานที่เก็บสามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 540.00 กิโลวัตต์ ซึ่งการชาร์จไฟจากระบบโซล่าเซลล์ชาร์จไฟฟ้าจนเต็มใช้เวลาน้อยกว่ากังหันลม 3 ชั่วโมง โดยสามารถนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้งานสับหยวกกล้วยได้ 14 ชั่วโมง ผลการทดสอบขนาดของใบมีด 4 ระดับ คือ 5 8 10 และ 13 มิลลิเมตร ด้วยความเร็วของมอเตอร์ 1,400 รอบต่อนาที การสับที่มุมใบมีดระดับ 10 มิลลิเมตร ได้ขนาดที่เหมาะสม 9.70 – 9.76 มิลลิเมตร กับการนำไปใช้งานเลี้ยงโค และมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าในการสับน้อยที่สุด 0.01291 - 0.01480 กิโลวัตต์ และค่าเฉลี่ยของเวลาที่ใช้ 47 - 54 วินาที ผลการสมมติฐาน พบว่า ระยะเวลาในการเก็บพลังงานของกังหันลมและโซล่าเซลล์มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 แอมแปร์ที่ชาร์จพลังงานได้ของกังหันลมและโซล่าเซลล์มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 และ พลังงานไฟฟ้าที่แปลงได้แล้วนำไปใช้สับหยวกกล้วยของกังหันลมและโซล่าเซลล์ไม่แตกต่างกัน ในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายของเครื่องสับหยวกกล้วยสำหรับอาหารสัตว์แบบ 3 แหล่งพลังงาน อยู่ที่ 11,000 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลด้านต้นทุนของอาหารสัตว์ประเภทโค อยู่ที่ 9,398 บาท

Article Details

How to Cite
พิมพาภรณ์ ณ. ., สาพิมพ์ เ. ., โตท่าโรง เ., บุตรน้ำเพ็ชร พ. ., & โต๊ะวัง อ. (2025). การออกแบบเครื่องสับหยวกกล้วยสำหรับอาหารสัตว์แบบ 3 แหล่งพลังงาน . วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, 2(1). สืบค้น จาก https://li04.tci-thaijo.org/index.php/stjrmutk/article/view/3571
บท
Research Article

References

กรมปศุสัตว์, “สถานการณ์การผลิต นำเข้า ส่งออกและการบริโภคเนื้อโค,” [ออนไลน์]. https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/341-news-hotissue/24675-nut090365. (เข้าถึงเมื่อ: 12 พ.ย. 2566).

กรมปศุสัตว์, รายงานผลงานวิจัยกองอาหารสัตว์ ประจำปี พ.ศ. 2554, กรุงเทพฯ: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2554.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, “สถานการณ์และแนวโน้มโคเนื้อ ปี 2566 ไทยและต่างประเทศ,” [ออนไลน์]. http://www.pasusart.com. (เข้าถึงเมื่อ: 12 พ.ย. 2566).

พันทิพา พงษ์เพียจันทร์, หลักการอาหารสัตว์, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2539.

วิชิต มาลาเวช, “ชุดสาธิตการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน,” วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ, ปีที่ 16, ฉบับที่ 3, หน้า 29–38, ฉบับพิเศษ, 2556.

ณพล เหลืองพิพัฒน์สร, “การพัฒนาเครื่องย่อยและอัดหญ้าอาหารสัตว์,” วิทยานิพนธ์ วศ.ม. (วิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, กรุงเทพฯ, 2561.

สมศักดิ์ คำมา, “การออกแบบและสร้างเครื่องสับย่อยเศษพืชผักในครัวเรือน.” วารสารวิชาการคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ปีที่ 38, ฉบับที่ 1, หน้า 82-95, มกราคม-เมษายน 2563.

ภาณุวัฒน์ วงค์แสงน้อย, “การออกแบบและการพัฒนาเครื่องสับต้นข้าวโพดแบบ 4 ใบมีดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผลิตอาหารสัตว์.”วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, ปีที่ 15, ฉบับที่ 1, หน้า 15-31, มกราคม – มิถุนายน 2563.

วรัญญู ทองเพชร และคณะ, “การออกแบบและพัฒนาเครื่องสับย่อยหญ้าเนเปียร์สำหรับผลิตอาหารสัตว์,” วารสารวิชาการเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ปีที่ 3, ฉบับที่ 2, หน้า 20–29, กรกฏาคม–ธันวาคม 2564.

R. Nampukdee, S. Polyorach, M. Wanapat, S. Kang, A. Cherdthong, P. Gunun, N. Gunun, and R. Sitthigripong,. “Effects of microbial fermented liquid (MFL) supplementation on gas production kinetics and digestibility using in vitro gas production technique,” International Journal of Agricultural Technology., no. 7, pp. 1495–1504, 2018.