การใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานในการจัดการโรคเหี่ยวของข่าตาแดง (Alpinia galanga) ที่เกิดจาก Ralstonia solanacearum ในจังหวัดพิจิตร

Main Article Content

มนัสชญา สายพนัส
วราพงษ์ ภิระบรรณ์
บูรณี พั่ววงษ์แพทย์

บทคัดย่อ

การจัดการโรคเหี่ยวของข่าตาแดงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum แบบผสมผสานในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ดำเนินการทดลองที่แปลงเกษตรกร ตำบลทุ่งน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ระหว่างปี 2565 ถึง ปี 2567 เพื่อแก้ปัญหาโรคเหี่ยวและลดความเสียหายของผลผลิตข่าตาแดง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขิงแบบผสมผสานของกรมวิชาการเกษตรมาทดสอบในพื้นที่เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและสามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้ อันก่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตข่าตาแดงของเกษตรกร โดยดำเนินการจัดการแปลงปลูกอบดินด้วยยูเรีย : ปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่ ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน ใช้สารละลายชีวภัณฑ์ BS - DOA 24 แบบหัวเชื้ออัตรา 50 กรัม ผสมใน 2% กากน้ำตาลปริมาตร 1 ลิตร เขย่าให้เข้ากัน บ่มเชื้อทิ้งไว้ 24 ชม.(เขย่า 2-3 ครั้ง) จากนั้นนำมาผสมน้ำ 100 ลิตร แช่หัวพันธุ์ในสารละลายนาน 30 นาที ก่อนนำไปปลูก หลังปลูกข่าตาแดงรดด้วยสารละลายชีวภัณฑ์ BS – DOA 24  เดือนละครั้ง ถ้าพบต้นข่าตาแดงแสดงอาการเหี่ยวทำการขุดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง และราดสารละลายชีวภัณฑ์ BS – DOA 24 รอบๆหลุมที่ขุด หรือโรยด้วยยูเรีย : ปูนขาว อัตรา 1 : 10 ต้นละ 500 กรัม กลบหลุม เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกร (control) พบว่า ปี 2565-2566 การควบคุมโรคเหี่ยวของข่าตาแดงในแปลงที่ใช้วิธีทดสอบให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกร ให้ผลผลิต 3,607 กิโลกรัมต่อไร่ แตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับวิธีเกษตรกรที่ให้ผลผลิต 2,710 กิโลกรัมต่อไร่  และพบการเกิดโรคเหี่ยวในแปลงทดสอบ 1.64 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แปลงที่ใช้วิธีการปฏิบัติของเกษตรกรพบเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคเหี่ยว 17.7 เปอร์เซ็นต์ ปี 2567  จัดทำแปลงต้นแบบ จำนวน 5 ราย จัดเสวนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ให้เกษตรกรที่มาร่วมงานศึกษาเรียนรู้ผ่านแปลงต้นแบบ จำนวน 30 ราย เกษตรกรมีความพึงพอใจเทคโนโลยีการจัดการดินและการใช้ BS - DOA 24 อย่างมากในการแก้ปัญหาโรคเหี่ยว จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปลูกซ้ำได้ในพื้นที่เดิม ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย