ผลของวันปลูกที่แตกต่างกันต่อองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตของมันเทศ สุภัชญา ธานี, กิตติศักดิ์ ผุยชา, และ จุฑามาศ สิทธิวงศ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินวันปลูกที่แตกต่างกันต่อองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตมันเทศ 4 สายพันธุ์ภายใต้สภาพการเพาะปลูกในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วางแผนการทดลอง Factorial experimental design in CRD โดยมี 2 ปัจจัย โดยปัจจัย 1 คือ พันธุ์มันเทศ คือ พันธุ์เบนิฮารุกะ พันธุ์ทาเนกะมุราซากิ พันธุ์ส้มโอกินาวา และพันธุ์อันโนะอิโมะ ปัจจัยที่ 2 คือวันปลูก คือ วันที่ 16 เมษายน 2564 (ต้นฤดูฝน) วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 (กลางฤดูฝน) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 (ปลายฤดูฝน) ทำการทดลองจำนวน 4 ซ้ำ บันทึกข้อมูลองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตของมันเทศเมื่ออายุเก็บเกี่ยวประกอบด้วยจำนวนหัวมันเทศ ความยาวหัวมันเทศ ความกว้างหัวมันเทศ น้ำหนักสดหัวมันเทศ น้ำหนักแห้งหัวมันเทศ น้ำหนักแห้งรวมและดัชนีการเก็บเกี่ยว พบว่าพันธุ์มันเทศและวันปลูกที่แตกต่างกันส่งผลต่อองค์ประกอบผลผลิตและผลิตโดยมันเทศทุกพันธ์ที่ปลูกในต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนให้จำนวนหัวอยู่ระหว่าง 4-8 หัว น้ำหนักหัวสดเฉลี่ย 400 - 600 กรัม/กระถาง แต่เมื่อทดสอบปลูกในกลางฤดูฝนกลับไม่สามารถให้ผลผลิต และดัชนีการเก็บเกี่ยวของพันธุ์มันเทศและวันปลูกที่แตกต่างกันไม่ส่งผลต่อผลผลิต