พฤติกรรมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวและสารพิษตกค้างในผลผลิตข้าว ของเกษตรกรภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชน สุกัญญา อรัญมิตร ผกามาศ วงค์เตย์ รัตนวรรณ จันทรศศิธร รัตติกาล อินทมา กัลยา บุญสง่า ขวัญชนก ปฏิสนธิ์ ชณินพัฒน์ ทองรอด วันรียา บุญสัน ยุพดี รัตนพันธ์ นรภัทร ศรีษะนอก ดลตภร โพธิ์ศิริ อนุชิตา รัตนรัตน์ กันต์ธณวิชญ์ ใจสงฆ์ บุปผารัฐ รอดภัย และ ปริญญา เชื้อชูชาติ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี และเป็นจุดสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว การจัดทำแปลงขยายพันธุ์เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์เป็น การปฏิบัติอันดับแรกที่กำหนดคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ ปริมาณและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์จะดีมากน้อยเพียงใดขึ้นกับการปฏิบัติดูแลรักษา เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแปลงขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำจะไม่สามารถปรับปรุงให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีได้ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานและเมล็ดพันธุ์ที่เหลือ จากการจำหน่ายจะถูกนำมาสีเป็นข้าวสารสำหรับการบริโภคในครัวเรือนหรือจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาพฤติกรรมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวและการตกค้างของสารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวในผลผลิตข้าวของเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 8 เขต โดยการสัมภาษณ์ จังหวัดละ 50 และ 100 ราย ช่วงเดือนมกราคม 2564–สิงหาคม 2565 พบว่า เกษตรกรใช้สารป้องกันกำจัดแมลงที่มีรายงานทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเกิดการระบาดเพิ่มซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว และสารที่เป็นวัตถุอันตรายกำจัดแมลง ไร และสัตว์ศัตรูพืชที่ห้ามใช้ทางการเกษตร การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวที่กรมการข้าวแนะนำ พบเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และชัยนาท ใช้ในระยะแตกกอสูงที่สุด (34.44-43.71%) ข้าวระยะออกรวงพบเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวสูงสุด (7.67-20.93%) เมื่อตรวจวิเคราะห์การตกค้างของสารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวของผลผลิตข้าว 204 ตัวอย่าง พบสารตกค้าง 60 ตัวอย่าง (ร้อยละ 29) ตัวอย่างข้าวจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก พบจำนวนตัวอย่างมีสารตกค้างสูงสุด ตรวจพบ azinphos methyl, dichlorvos, deltamethrin, ethiprole, thiophanate-methyl, cyproconazole, propiconazole, tebuconazole และ tricyclazole ปริมาณที่พบไม่เกินค่ากำหนดของมาตรฐาน Codex’s MRLs แต่เกินค่ากำหนดของมาตรฐาน EU-MRLs ข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์การใช้สารเคมีในการผลิตข้าวและสารตกค้างในผลผลิตข้าวของเกษตรกรภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ และใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าวอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำของทางราชการ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่เกษตรกรในชุมชน นำไปสู่การลดการใช้สารเคมีในอนาคตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)