สถานการณ์ความต้านทานต่อสารป้องกันกำจัดแมลงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สุกัญญา อรัญมิตร กัลยา บุญสง่า จินตนา ไชยวงค์ พยอม โคเบลลี่ ไอลดา ชุมแสง ฉลอง นิลบุตร สุภาพร ลิอินทร์ นฤมล ดุนสุข ปัฐวินันท์ บัวสา และ ศิริภรณ์ ต้องประสงค์
Main Article Content
บทคัดย่อ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Nilaparvata lugens (Stål)) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญในระบบการผลิตข้าวพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง มีความสามารถในการปรับตัวต่อพืชอาหารและสภาพแวดล้อมได้ดี พบการระบาดรุนแรงครั้งแรกในภาคเหนือตอนบนเมื่อปี พ.ศ. 2554 - 2555 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดเกิดจากการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงที่ไม่ถูกวิธี มีการใช้สารเคมีเป็นพื้นที่กว้าง ด้วยปริมาณความเข้มข้นที่สูงและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานการณ์ความต้านทานของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเขตภาคเหนือตอนบนต่อสารป้องกันกำจัดแมลง ในปี พ.ศ. 2565 ได้ทำการเก็บรวบรวมประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากนาข้าวในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง ทดสอบระดับความเป็นพิษ (LD50) ต่อสารป้องกันกำจัดแมลงที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ สาร imidacloprid, dinotefuran และ ethiprole ผลการทดลองพบว่าประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จังหวัดเชียงรายและลำปางมีความต้านทานต่อสาร ethiprole ระดับต้านทานต่ำ (6 เท่า) และประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากทั้งสามจังหวัดยังไม่ต้านทานต่อสาร imidacloprid และ dinotefuran ข้อมูลนี้สามารถใช้เป็นคำแนะนำการเลือกใช้สารป้องกันกำจัดแมลงในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนบนอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับระดับความต้านทานของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแต่ละพื้นที่