การศึกษาประสิทธิภาพของการใช้สารตัวเร่งต่างชนิดต่อการย่อยสลายเพื่อ ลดการใช้มูลสัตว์ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทวีทรัพย์ ไชยรักษ์ และกัญชลิกา รัตนเชิดฉาย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สารเร่งต่างชนิดต่อการย่อยสลายปุ๋ยอินทรีย์ วางแผนการทดลองแบบ 2x4 Factorial จัดสิ่งทดลองแบบสุ่มบล็อกสมบูรณ์ ปัจจัย A เป็นชนิดพืช 2 ชนิดคือ ผักตบชวา และใบจามจุรี ปัจจัย B เป็นสารตัวเร่ง 4 ชนิด คือ มูลโค, เชื้อจุลินทรีย์ EM, เชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา และปุ๋ยยูเรีย เก็บข้อมูลที่ 30 และ 60 วันหลังหมักปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ คุณสมบัติทางเคมีและปริมาณธาตุอาหารหลัก จากนั้นนำมาทดสอบประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์กับการเจริญเติบโตและองค์ประกอบผลผลิตของพืชทดสอบ คือ พริกพันธุ์จินดา ผลการศึกษา พบว่า ที่ระยะเวลา 60 วัน ปุ๋ยอินทรีย์มีค่า pH, EC, Organic carbon และ C/N ratio ลดลง ส่งผลให้มีอัตราการย่อยสลายดีกว่าระยะเวลา 30 วัน แต่มีปริมาณ OM, Total N, Total P และ Total K ไม่แตกต่างกันทั้ง 2 ช่วงเวลาการเก็บข้อมูล สำหรับใบจามจุรีหมักด้วยไตรโคเดอร์มาให้ค่า Total N สูงสุด ผักตบชวาหมักด้วยไตรโคเดอร์มาทำให้มี Total P สูงสุด และผักตบชวาหมักด้วยไตรโคเดอร์มาและ EM ทำให้มี Total K สูงสุด และมีประสิทธิภาพดีเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้มูลโคเป็นสารตัวเร่งการย่อยสลาย เมื่อนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้ (หมัก 60 วัน) ไปทดสอบกับพริกพันธุ์จินดา พบว่า ปุ๋ยจากผักตบชวาหมักร่วมกับไตรโคเดอร์มา ใบจามจุรีหมักร่วมกับไตรโคเดอร์มา และใบจามจุรีหมักร่วมกับ EM ส่งผลให้พริกพันธุ์จินดามีการเจริญเติบโตและองค์ประกอบผลผลิตสูงสุด (19.50, 19.25 และ 18.12 กรัมต่อกระถาง) ตามลำดับ ดังนั้น สารตัวเร่งที่นำมาทดสอบคือ ไตรโคเดอร์มาหรือ EM จึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้