อิทธิพลของการเพิ่มสารอาหารและเอทานอลต่อคุณภาพดอกและ อายุการปักแจกันของเบญจมาศตัดดอก (Dendranthema grandiflora Tzvelev.) อุบล ชินวัง วรรณพร ดวงพัตรา และสุภาภรณ์ จันพวง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาคุณภาพและอายุการปักแจกันของเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยวจากพื้นที่ปลูกจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการในฤดูการผลิตปี 2563 จำนวน 2 การทดลองคือ (1) การเพิ่มสารอาหาร (ซูโครส) ความเข้มข้น 0 (น้ำกลั่น) 5 10 และ 15% เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ให้แก่เบญจมาศพันธุ์ไรวารี่ และขาวสโนว์ ก่อนการปักแจกันในน้ำกลั่น (pH 6.29) ในสภาพห้อง (22.8°C และความชื้นสัมพัทธ์ 71.1%) และ (2) การใช้สารละลายเอทานอล (ความเข้มข้น 0.5 และ 1.0%) และ/หรือซูโครส (ความเข้มข้น 5%) สำหรับการปักแจกันดอกเบญจมาศพันธุ์ไรวารี่ เปรียบเทียบกับน้ำกลั่นในสภาพห้อง (24.9°C และความชื้นสัมพัทธ์ 72.4%) ผลการทดลองที่ 1 พบว่าการเพิ่มสารอาหารให้แก่เบญจมาศพันธุ์ไรวารี่ไม่มีผล (P>0.05) ต่อคุณภาพดอก (ความสดของกลีบดอก และเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก) ปริมาณการดูดน้ำต่อวัน และอายุการปักแจกัน (19.40-19.75 วัน) เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำกลั่น (20.00 วัน) และการเพิ่มสารอาหารทุกความเข้มข้นทำให้เบญจมาศพันธุ์ขาว สโนว์มีการบานของดอกมากขึ้นในช่วงแรกของการปักแจกัน แต่ไม่มีผลต่ออายุการปักแจกัน (15.90-17.70 วัน) ดอกไม้พันธุ์นี้ที่ผ่านการเพิ่มสารอาหารทุกกรรมวิธีมีอายุการปักแจกันสั้นกว่าพันธุ์ไรวารี่ (16.73 และ 19.71 วัน ตามลำดับ) การศึกษาต่อมากับเบญจมาศพันธุ์ไรวารี่ใช้วิธีการแช่ปลายก้านดอกในน้ำกลั่น เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ก่อนนำไปปักแจกันในสารละลายเคมี (เอทานอล และ/หรือซูโครส) เปรียบเทียบกับน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) และพบว่าเบญจมาศที่ปักแจกัน ในสารละลายเอทานอลทั้งสองความเข้มข้น ดูดน้ำในปริมาณมากกว่าชุดควบคุม และดอกไม้ที่ปักแจกันในสารละลายซูโครสเพียงชนิดเดียวและซูโครสร่วมกับเอทานอล ทั้งสองความเข้มข้น ดอกไม้ในกรรมวิธีดังกล่าวจึงมีคุณภาพดอก (ความสดของกลีบดอกและใบ และเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก) ที่ดีกว่า (P£0.01) ดอกไม้ในกรรมวิธีอื่นๆ ในระหว่างการปักแจกัน และมีอายุการปักแจกันที่มากกว่า (P£0.05) (เฉลี่ย 18.85 วัน) เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (16.30 วัน) และสารละลายซูโครสและ/หรือเอทานอลทั้งสามกรรมวิธี (13.1 13.0 และ 12.9 วัน ตามลำดับ) นอกจากนี้ การใช้สารละลายเอทานอลทั้งสองความเข้มข้นเป็นสารละลายสำหรับการปักแจกันเบญจมาศ พบแนวโน้มของการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์บริเวณปลายก้านดอก (6 เซนติเมตร) ลดลง