การใช้สารพาโคบิวทราโซลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าไข่มุกกระถาง กษิดิ์เดช อ่อนศรี กัญตนา หลอดทองหลาง เกศินี ศรีปฐมกุล วาสนา แผลติตะ และณัฐพงค์ จันจุฬา
Main Article Content
บทคัดย่อ
หญ้าไข่มุก Pennisetum glaucum เป็นพืชอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงโคนม แต่ปัจจุบันได้มีการนำต้นหญ้าไข่มุกมาใช้เป็นไม้ดอกประดับสำหรับตกแต่งตามอาคารสถานที่ต่างๆ ใช้ตกแต่งสวน และทำเป็นดอกไม้แห้ง ใช้ในการปักแจกัน หรือทำเป็นช่อดอกไม้แห้ง ทำให้เกิดความสวยงามและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรมากขึ้น การทดลองนี้ได้ศึกษาผลของระดับความเข้มข้นของสารพาโคบิวทราโซลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าไข่มุกกระถาง ประกอบด้วย 6 ทรีทเมนต์ คือ ไม่มีการให้สารละลายพาโคลบิวทราโซล หรือมีปริมาณความเข้มข้นของสารละลายพาโคลบิวทราโซล 0 มิลลิกรัมต่อลิตร (PBZ0) และปริมาณความเข้มข้นของสารละลายพาโคลบิวทราโซล 50 100 150 200 และ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร (PBZ50, PBZ100, PBZ150, PBZ200 และ PBZ250) จำนวน 10 ซ้ำ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design, CRD) พบว่า พาโคบิวทราโวลมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าไข่มุก โดยความเข้มข้นของสาร PBZ ที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้ความสูงของต้น ความยาวของใบ น้ำหนักดอกสดและแห้งมีค่าลดลง แต่ไม่มีผลต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น ความกว้างของใบ จำนวนแขนงเฉลี่ยต่อต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของก้านชูดอก และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก โดยสารพาโคบิวทราโซลที่ความเข้มข้น 250 mg/l มีผลทำให้ความสูงของต้นเฉลี่ย ความยาวของใบเฉลี่ย น้ำหนักดอกสดทั้งช่อเฉลี่ยต่อต้น น้ำหนักดอกแห้งทั้งช่อเฉลี่ยต่อต้น และน้ำหนักดอกแห้งเฉพาะดอกเฉลี่ยต่อต้นของหญ้าไข่มุกน้อยที่สุด ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่เหมาะที่จะใช้เป็นแนวทางในการผลิตหญ้าไข่มุกกระถางให้เป็นไม้ดอกประดับตามความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่อไปได้