การวิเคราะห์สารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของมันพื้นบ้านในภาคเหนือ

Main Article Content

ฺบรรจง อูปแก้ว
อนุชา จันทรบูรณ์
วราวุฒิ โล๊ะสุข
วสุธร บัวคอม
วิโรจน์ มงคลเทพ
ณัฐกร ไชยแสน
กัลยา พงสะพัง
กัญญ์ณพัชญ์ ดวงแก้ว

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของมันพื้นบ้านในภาคเหนือ ด้วยการตรวจสอบหาสารสำคัญและองค์ประกอบทางเคมีเบื้องต้นในมันพื้นบ้าน สำหรับการพัฒนาเป็นอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพและการปลูกเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นข้อมูลสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่น โดยทำการศึกษามันพื้นบ้านจำนวน 10 พันธุ์ ประกอบด้วย มันเลือด มันซา มันจาวพร้าว มันแกลบ มันหัวช้าง มันพร้าวยาว มันมือเสือ มันอ้อน มันเสา และมันเหลือง ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มภายในบล็อกสมบูรณ์ ทำ 3 ซ้ำ โดยการปลูกทดลองในแปลงของเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตร บ้านป่าคา ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ปลูกในฤดูกาลผลิตปี 2567/2568 จากการทดลอง พบว่า มันพื้นบ้านทั้ง 10 พันธุ์ ให้ผลผลิตต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P < 0.01) โดยมันเลือดเป็นพันธุ์ที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงสุด คือ 3,713.94  กิโลกรัมต่อไรและมีสหสัมพันธ์ทางบวกระหว่างผลผลิตกับนํ้าหนักหัวสด นํ้าหนักหัวแห้ง และดัชนีพื้นที่ใบ ซึ่งจากการวิเคราะห์สารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระยังพบว่า ปริมาณแป้ง ปริมาณโปรตีน ปริมาณเส้นใย ปริมาณสารประกอบฟีนอลิก ปริมาณฟลาโวนอยด์ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ ABTS ต่างกันอย่าง  มีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P < 0.01) โดยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดมันเลือดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์รวมที่วิเคราะห์ได้ ซึ่งจากผลการทดลองในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามันเลือดเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ในส่วนการต่อยอดการวิจัยควรศึกษาความแปรปรวนทางพันธุกรรมของมันพื้นบ้านเพื่อการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมที่จะช่วยคงคุณภาพมันพื้นบ้านต่อไป


คำสำคัญ: การเจริญเติบโต, ฟลาโวนอยด์, สารประกอบฟีนอลิก, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, มันพื้นบ้าน

Article Details

บท
บทความวิจัย