ประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างโดยการพ่น ด้วยอากาศยานไร้คนขับ วันพร เข็มมุกด์, ศุภลักษณา สนคงนอก, สุนิสา คงสมโอษฐ์, สุภาวดี ฤทธิสนธิ์, วิลาวรรณ จั่นแก้ว, วิพากษ์ อ่อนทรัพย์, จันจิรา ชัยกล้า, สุกัญญา อรัญมิตร และ นพดล ประยูรสุข
Main Article Content
บทคัดย่อ
ทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างด้วยอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle) ในฤดูนาปรังปี 2565 ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวางแผนการทดลองแบบ 2x3 Factorial in RCB ใช้ข้าวพันธุ์ กข85 เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่าง 2 ชนิด ได้แก่ propiconazole+difenoconazole และ cyproconazole +picoxystrobin พ่นด้วยอากาศยานไร้คนขับที่ระยะความสูง 1.0 และ 2.0 เมตร อัตราพ่น 3.5 ลิตรต่อไร่ เปรียบเทียบกับวิธีการพ่นด้วยแรงงานคน อัตรา 40 ลิตรต่อไร่ ผลการทดลองพบว่า ประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างของสารทั้ง 2 ชนิด ไม่มีความแตกต่างกัน เมื่อพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับทั้ง 2 ระดับความสูง หรือพ่นด้วยแรงงานคน โดยแสดงร้อยละการเกิดโรค ร้อยละความรุนแรงของโรคเมล็ดด่าง และน้ำหนักผลผลิตเฉลี่ยไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่แตกต่างจากชุดควบคุมที่พ่นด้วยน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงสามารถสรุปได้ว่าการใช้อากาศยานไร้คนขับพ่นสารป้องกันกำจัดโรคข้าวนั้นมีประสิทธิภาพดีไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญ สามารถนำไปถ่ายทอดและแนะนำให้เกษตรกรเพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับในการควบคุมโรคเมล็ดด่างเพื่อทดแทนแรงงานคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ