การพัฒนารูปแบบการผลิตฟ้าทะลายโจรด้วยเทคโนโลยี เกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับเกษตรกร ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ณัฐพร สนเผือก สุรีย์พร ธรรมิกพงษ์ และ ผุสดี ภุมรา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการผลิตฟ้าทะลายโจรด้วยเทคโนโลยีเกษตรแนวตั้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกร ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถาม และเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตของพืช และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีเกษตรแนวตั้ง คิดเป็นร้อยละ 75 ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีเกษตรแนวตั้ง คิดเป็นร้อยละ 90 รูปแบบเทคโนโลยีเกษตรแนวตั้งที่ใช้ในการปลูกฟ้าทะลายโจรในพื้นที่มี 3 วิธีการ (TR) โดยผลการเจริญเติบโตของพืช พบว่า วิธีการให้น้ำและปุ๋ยที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ฟ้าทะลายโจรมีค่าความสูงต้นพืชเฉลี่ย ความกว้างใบพืชเฉลี่ย จำนวนใบเฉลี่ย น้ำหนักสดต้นเฉลี่ย น้ำหนักสดรากเฉลี่ย และความยาวรากเฉลี่ยมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01 โดยรูปแบบวิธีการให้น้ำที่ผ่านเครื่องนาโนบับเบิ้ลและเติมออกซิเจนร่วมกับการให้ปุ๋ยน้ำ (TR 3) ส่งผลให้พืชมีค่าความสูงต้นพืชเฉลี่ย ความกว้างใบพืชเฉลี่ย และจำนวนใบพืชเฉลี่ยมากที่สุดในทุกช่วงอายุพืช 20, 30 และ 45 วันหลังปลูก โดยพืชมีอัตราน้ำหนักสดต้นพืชเฉลี่ย น้ำหนักสดรากพืชเฉลี่ย และความยาวรากพืชเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.83 กรัม/ต้น/วัน 0.64 กรัม/ต้น/วัน และ 0.44 เซนติเมตร/วัน ตามลำดับ เกษตรกรสนใจนำเทคโนโลยีเกษตรแนวตั้งมาใช้ในพื้นที่ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน ไม่ทำลายหน้าดิน ลดการใช้พื้นที่ปลูกพืช มีระบบการให้น้ำและปุ๋ยที่ง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของพืชได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม