การรักษาคุณภาพที่ดีของผลมะม่วง (Mangifera indica L.) ในระยะหลังการเก็บเกี่ยว อุบล ชินวัง และ ทินน์ พรหมโชติ

Main Article Content

บทคัดย่อ

มะม่วงเป็นผลไม้ส่งออกของหลายประเทศ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคผลสดทั่วโลก การรักษาคุณภาพที่ดีของผลสดในระยะหลังการเก็บเกี่ยวด้วยวิทยาการด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทำให้ผลไม้มีอายุการวางจำหน่ายยาวนานขึ้น วิทยาการดังกล่าวนี้สามารถชะลอการสุกของผล และลดปริมาณการเน่าเสียของผลเนื่องจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคพืชและแมลงศัตรูพืชบางชนิด นอกจากการปฏิบัติด้านการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมแล้ว วิทยาการหลายด้านได้ถูกนำมาใช้กับมะม่วงก่อนการบรรจุหีบห่อ และในระหว่างการขนส่งหรือการเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่าย ได้แก่ การทำให้ผลิตผลเย็นลงโดยการลดอุณหภูมิ (precooling) ภายหลังการเก็บเกี่ยว การจุ่มผลในน้ำร้อนระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ร่วมกับสารเคมีที่มีฤทธิ์ป้องกันกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคพืชด้วยความเข้มข้น และระยะเวลาที่เหมาะสม การอบไอน้ำร้อนเพื่อกำจัดไข่และตัวอ่อนของแมลงวันผลไม้ การฉายรังสีมะม่วงภายในบรรจุภัณฑ์ก่อนการส่งออก และการเก็บรักษาผลในบรรจุภัณฑ์แบบดัดแปลงบรรยากาศ ร่วมกับการใช้อุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษา ส่วนวิธีการเก็บรักษามะม่วงในสภาพควบคุมบรรยากาศแบบประยุกต์ (หรือ dynamic controlled atmosphere storage) เพื่อป้องกันการเกิดสภาพขาดก๊าซออกซิเจนของเนื้อเยื่อผลไม้ระหว่างการเก็บรักษา อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ได้ การใช้สารเคมีสังเคราะห์หลายชนิดมีประสิทธิภาพดีและให้ผลรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการทางกายภาพ (ความร้อน ความเย็น รังสี ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ลดลง และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น) และชีววิธี (สารสกัดจากพืช และเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์) การใช้สารเคมีสังเคราะห์ต้องคำนึงถึงสารเคมีตกค้างในผลมะม่วงที่อาจพบในปริมาณที่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดไว้  การศึกษาวิจัยด้านการใช้สารอินทรีย์ที่สกัดจากพืช และเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ จึงมีการพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับ (หรือทดลองเปรียบเทียบกับ) สารเคมีสังเคราะห์ เพื่อผลิตเป็นสารผลิตภัณฑ์มาใช้ในการรักษาคุณภาพของผลมะม่วงในทางการค้าต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย