เครือข่ายไก่ชนเชิงธุรกิจ: กรณีศึกษาฟาร์มไก่ชนในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ไวทยา ภูตีนผา ไกรเลิศ ทวีกุล และ ยศ บริสุทธิ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อศึกษาเครือข่ายธุรกิจผู้เลี้ยงไก่ชนเชิงธุรกิจ ในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 2) เพื่อศึกษาการสร้างมูลค่าเพิ่มของผู้เลี้ยงไก่ชนเชิงธุรกิจ ในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรไก่มากกว่า 300 ตัว 1 ฟาร์ม เครือข่ายด้านอาหาร 2 คน เครือข่ายด้านเวชภัณฑ์ 2 คน เครือข่ายด้านลูกค้าหรือกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน 5 คน เครือข่ายด้านผู้ให้ความรู้ในการเลี้ยงไก่ชน (ปราชญ์หรือเซียนไก่ชน) 1 คน เครือข่ายด้านสนามชนไก่ 4 คน รวม 15 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแบบสัมภาษณ์ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) อธิบายความเป็นเหตุเป็นผลความสัมพันธ์เชื่อมโยง และประมวลผลสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการศึกษาพบว่า เครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ชน มี 5 เครือข่าย ปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายเข้มแข็ง คือสถานะของสมาชิกในเครือข่ายมีความเท่าเทียมกันเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ (horizontal relationship) คือความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน มากกว่าความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง (vertical relationship) ในลักษณะเจ้านายลูกน้อง การสร้างมูลค่าเพิ่มของผู้เลี้ยงไก่ชนเชิงธุรกิจ พบว่าการนำแม่พันธุ์ไปฝากผสมกับพ่อพันธุ์ฟาร์มอื่น เพื่อนำเอาลูกไก่ที่ได้มาจำหน่ายอายุ 3 เดือนอยู่ที่ตัวละ 2,000 – 3,000 บาท ผลตอบแทนในการเลี้ยงลูกไก่ชนสามารถมีรายได้ที่ดีกว่าการเลี้ยงไก่ชนในแต่ละรุ่น เนื่องจากมีระยะเวลาการดูแลสั้นสามารถสร้างผลผลิตได้ 3 รุ่นต่อ 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนเชิงพาณิชย์เพราะสามารถให้ผลตอบแทนเร็ว