การตรวจสอบคุณภาพของฝรั่งตัดแต่งพร้อมบริโภคพันธุ์กิมจูในบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ฟิล์มไคโตซานอัจฉริยะที่ผสมเอเอ็มพีและแอนโทไซยานิน

ผู้แต่ง

  • จุฑาทิพย์ โพธิ์อุบล ภาควิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมชีวภาพ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140
  • ปพิชญา สุจริตจิตร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมชีวภาพ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พริมา พิริยางกูร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมชีวภาพ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

ไคโตซาน, อะมิโนเมทิลโพรพานอล, แอนโทไซยานิน, ฝรั่ง

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ศึกษาการใช้ไคโตซานร้อยละ 0.5 ผสมอะมิโนเมททิล โพรพานอล (เอเอ็มพี) ร้อยละ 10 และแอนโทไซยานินจากดอกอัญชันร้อยละ 1 เคลือบลงบนกระดาษกรอง ในการตรวจวัดคุณภาพของฝรั่งตัดแต่งพันธุ์กิมจูที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 และ 37 องศาเซลเซียส ผลพบว่าบรรจุภัณฑ์ฝรั่งตัดแต่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ในขณที่มีก๊าซออกซิเจนลดลง ฝรั่งตัดแต่งมีค่าพีเอช ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดเพิ่มขึ้น อีกทั้งเนื้อฝรั่งมีสีน้ำตาลและมีการเน่าเสียเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่เพิ่มขึ้น ในวันที่ 7 ของการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 และ 37 องศาเซลเซียส พบว่าในบรรจุภัณฑ์มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0 เป็นร้อยละ 0.5 และ 5 มีค่าความเป็นกรด-ด่าง เพิ่มขึ้นจาก 4.2 เป็น 4.5 และ 5.9 มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้เพิ่มขึ้นจาก 24.6 เป็น 28.4 และ 28.2 องศาบริกซ์ มีจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด ยีสต์ และราเพิ่มขึ้นจาก 5.6 4.8 และ 2.5 log CFU/g เป็น 17.0 8.7 และ 15.0 log CFU/g และ 20.5 9.7 และ 19.5 log CFU/g ตามลำดับ ในขณะที่ตรวจไม่พบ Escherichia coli และ Salmonella spp. ในฝรั่งตัดแต่งที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส แต่ตรวจพบ E. coli จำนวน 8.1 log CFU/g ในฝรั่งตัดแต่งที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ฟิล์มไคโตซานมีการเปลี่ยนแปลงสีจากสีฟ้าไปเป็นสีฟ้าอมเขียว และสีฟ้าอมเหลืองตามการสูญเสียคุณภาพของฝรั่งที่เก็บรักษา ดังนั้น จึงสามารถนำมาใช้เป็นดัชนีในการตรวจวัดคุณภาพของฝรั่งตัดแต่งได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-03