แนวทางการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา จังหวัดเชียงราย

ผู้แต่ง

  • ธัญลักษณ์ ศุภพลธร โปรแกรมวิชากราฟิกดีไซน์ คณะเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • คนาธิป สกุลรัตน์ โปรแกรมวิชากราฟิกดีไซน์ คณะเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • ขวัญฤทัย ครองยุติ โปรแกรมวิชาการท่องเที่ยว คณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

คำสำคัญ:

สื่อประชาสัมพันธ์, การท่องเที่ยวเชิงศาสนา, ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาเอกลักษณ์บริบทของวัดในจังหวัดเชียงรายและความต้องการด้านรูปแบบและเนื้อหาของสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา จังหวัดเชียงราย 2) เพื่อออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เอกลักษณ์ของวัดในจังหวัดเชียงราย 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา จังหวัดเชียงราย กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านจำนวน 15 คน ทำการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และนักท่องเที่ยวจำนวน 400 คน ทำการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายมีวัดที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น 5 วัด ประกอบด้วยวัดพระสิงห์ วัดพระธาตุดอยจอมทองวัดพระแก้ว วัดกลางเวียง และวัดมุงเมือง วัดแต่ละแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสำคัญคู่เมืองเชียงรายมาช้านานที่ควรควรค่าแก่การบูชาในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยมีความต้องการสื่อในรูปแบบคลิปวิดีโอมากที่สุด รองลงมาคือแผ่นพับ แอนนิเมชั่น และคู่มือ ตามลำดับ 2) การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เอกลักษณ์ของวัดในจังหวัดเชียงรายประกอบด้วยสื่อคลิปวีดีโอ แผ่นพับ และโปสเตอร์ 3) นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อสื่อประชาสัมพันธ์ในด้านการออกแบบและด้านเนื้อหาในระดับมาก ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวัดแต่ละแห่งควรทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและข้อมูลที่น่าสนใจของวัดผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการรับรู้สื่อของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-08-27